เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของแนวโน้มนวัตกรรมแห่งปี 2023 ที่ขาดไปไม่ได้ย่อมต้องเป็นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย โดยเฉพาะในส่วนของปัญญาประดิษฐ์ที่นำไปสู่ข้อถกเถียงขนานใหญ่ในสังคม
ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก้าวหน้าและรวดเร็วขึ้นทุกปี เป็นส่วนสำคัญช่วยในการขับเคลื่อนมนุษยชาติให้ก้าวไปข้างหน้า วันนี้เรามาดูกันเสียหน่อยว่าแนวโน้มวิทยาการที่กำลังจะมาถึงมีส่วนไหนที่น่าสนใจจนอาจเป็นนวัตกรรมแห่งปี 2023 บ้าง
โดย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเปิดเผย “7 เทรนด์นวัตกรรมปี 2566” ที่จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับไทยและในระดับโลก
ใกล้ปีใหม่เข้ามาทุกที ช่วงนี้หลายคนอาจเริ่มเห็นคอนเทนต์รวมกระแสหรือคาดการณ์เทรนด์ต่าง ๆ จากหลากหลายวงการ หัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักธุรกิจนักลงทุนสายเทคโนโลยี หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ต้องการกระโดดเข้ามาในวงการคือเรื่องของเทรนด์นวัตกรรม
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จะหยิบจับเทรนด์ไหนดี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ออกมาเปิดเผย “7 เทรนด์นวัตกรรมปี 2566” ที่จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับไทยและในระดับโลก
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า 7 เทรนด์ดังกล่าวนี้ เป็นเทรนด์นวัตกรรมจากทั่วโลก ที่ประเทศไทยเองก็สัมผัสสัญญาณอ่อน ๆ ได้ว่า “มันกำลังมา!”
เทรนด์ที่ 1 – เทคโนโลยีใหม่ด้านพลังงาน (New Energy Tech)
จากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่ ผลพวงที่สำคัญคือเรื่องของราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้นสูง เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเรื่องของพลังงานและเชื้อเพลิง เมื่อคนรู้สึกว่าต้องจ่ายค่าพลังงานแพงมาก จึงพยายามหันไปหาพลังงานใหม่
ดร.พันธุ์อาจกล่าวว่า “สภาพแวดล้อมของเมืองมันเปลี่ยนไป ตัวเทคโนโลยีพลังงานกำลังจะพุ่งขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น คนไทยยอมรับยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น นั่นแสดงว่าเริ่มมีการเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น คุณจะเห็นสถานีชาร์จไฟฟ้ามากขึ้น ระบบนวัตกรรมในพื้นที่จอดรถจะเปลี่ยนไปเยอะโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”
อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความคิดเรื่องการใช้พลังงานของผู้บริโภคคือค่าไฟที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่คนไทยหลายคนรู้สึก ทำให้แนวคิดการผลิตพลังงานด้วยตัวเองในต้นทุนที่ถูกเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ
“ความหลากหลายของเทคโนโลยีพลังงานมันไม่ใช่แค่ไปหาซื้อสินค้าเท่านั้นแล้ว มันจะกลายเป็นว่าเราสามารถมีระบบในบ้าน โดยที่มันมีทางเลือกสูงจากปัจจัยค่าไฟแพง ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นแค่ปรากฏการณ์หนึ่งเท่านั้น” ดร.พันธุ์อาจบอก
ตัวอย่างของนวัตกรรมในหมวดเทรนด์แรกนี้ เช่น ระบบกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์แบบเข้มข้น การแปลงพลังงานจากแหล่งความร้อนใต้พิภพ พลังงานชีวภาพ พลังงานไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว รวมถึงระบบสำรองพลังงานประสิทธิภาพสูง เช่น การสำรองไฟฟ้าสำหรับระบบโครงข่ายพลังงาน เทคโนโลยีสำรองไฟฟ้าแบบวัสดุลิเทียมไอออนขั้นสูง ระบบแบตเตอรี่ทางเลือก เป็นต้น
เทรนด์ที่ 2 – อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอากาศยาน (Travel and Aviation)
เทรนด์นี้เกี่ยวกับประเทศไทย 100% นั่นคือเทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับความเสียหายกันไปอย่างมหาศาลในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
เขาเสริมว่า การท่องเที่ยวจะมีนวัตกรรมแบบ Post Covid คืออุตสาหกรรมการบินที่ล่มสลายไปจะฟื้นตัวกลับมา สัญญาณหนึ่งคือการที่สายการบินหลายแห่งทั่วโลกตัดสินใจนำเครื่องบิน A380 กลับมาใช้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางกันอย่างล้นหลามมากขึ้นจากความอัดอั้นตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา
นวัตกรรมจากเทรนด์นี้ควรเป็นการพัฒนารูปแบบตลาดที่ลดการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ การอำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การบริหารจัดการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ชุมชน รวมถึงการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่อย่าง Workation หรือ Staycation
อีกหนึ่งโอกาสที่ประเทศไทยน่าจะเป็นผู้เล่นคนสำคัญในธุรกิจการบินได้คือ “เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน”
ดร.พันธุ์อาจกล่าวว่า “ญี่ปุ่นเริ่มทำมาก่อนแล้ว ประสบความสำเร็จในการทดสอบเชื้อเพลิงที่ทำมาจากสาหร่าย เป็นเชื้อเพลิงสีเขียว … ฉะนั้น ถ้ามันมีเชื้อเพลิงที่มาจากสาหร่าย ที่มันมาจากวัสดุชีวภาพเยอะขึ้น เมืองไทยซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ก็จะมีโอกาส”
เทรนด์ที่ 3 – เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech)
ผอ. NIA เล่าว่า เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech กำลังมาแรงทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย มันไม่ใช่แค่สตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยี แต่เป็นสตาร์ทอัปที่อยู่ในห้องแล็บ เป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน ยากต่อการเลียนแบบ จึงสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันบนฐานของทรัพย์สินทางปัญญา สามารถผลักดันธุรกิจให้ขยาย หรือสร้างตลาดใหม่ได้ในระดับนานาชาติได้
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเชิงลึกมีกับดักของมันอยู่ หนึ่งคือไม่ใช่เทคโนโลยีที่ซับซ้อนทุกอย่างจะขายได้หรือเป็นแกนหลักในการขยายธุรกิจได้ และอีกหนึ่งเรื่องคือ หากเทคโนโลยีหรืองานวิจัยนั้นไม่ลึกจริง ธุรกิจนั้นก็อาจกลายสภาพเป็นแค่บริษัทรับจ้างวิจัย ไม่ใช่สตาร์ทอัป
เทรนด์เทคโนโลยีเชิงลึกยังได้รับความสนใจจากผู้ใช้หรือนักลงทุนทั้งในกลุ่มเกษตร อาหาร อวกาศ เทคโนโลยีเสมือนจริง เซนเซอร์ ฯลฯ
ทั้งนี้ พบว่าการระดมทุนของธุรกิจเทคโนโลยีเชิงลึกเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี 2561 ถึงปี 2565 จาก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.2 แสนล้านบาท) เป็น 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (2 ล้านล้านบาท)
“เมืองไทยเราก็พยายามไม่ว่าจะเป็นด้านอวกาศ อาหาร การแพทย์ อย่างเทคโนโลยีเชิงลึกของการแพทย์นี่ การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ไม่นับนะ ต้องเป็นพวกนัวตกรรมระบบวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด อย่างนี้ถึงจะนับ” ดร.พันธุ์อาจกล่าว
เขาเสริมว่า “ประเทศไทยถ้าตกเทรนด์เรื่องนี้ก็จะตกไปเรื่อย ๆ ทั้งประเทศลงทุนแล็บไปแสนล้าน แล้วไม่เอาของพวกนี้มาตั้งเป็นบริษัท”
เทรนด์ที่ 4 – ซอฟต์พาวเวอร์ญี่ปุ่น (Japan Soft Power)
หลังจากเผชิญกับโควิด-19 ดร.พันธุ์อาจประเมินว่า ญี่ปุ่นจะไม่ได้กลับมาผงาดในเวทีโลกด้วยอุตสาหรรมภาคการผลิตในโรงงาน (Manufacturing) หรืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่จะกลับมาด้วยไลฟ์สไตล์และวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความโด่ดเด่นในการใช้ซอร์ฟพาวเวอร์มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่อดีต ซึ่งไม่ได้เป็นแค่การเติบโตของอุตสาหกรรม แต่ยังเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับประเทศในเวทีสากล เช่น การนำซอฟต์พาวเวอร์มากระตุ้นและใช้งานผ่านกิจกรรมโอลิมปิก 2020
ญี่ปุ่นนำจุดเด่นของ MAG Culture (หนังสือการ์ตูน-Manga, อะนิเมะ-Anime และ เกม-Game) และตัวละครอย่างมาริโอ้ โปเกมอน หรือ โดราเอมอน มาใช้ประโยชน์ในการสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คน
“คนไปเที่ยวญี่ปุ่นก็โหยหาซอฟต์พาวเวอร์เขา เพราะฉะนั้นนี่เป็นตัวอย่างว่า ถ้าญี่ปุ่นจะกลับมา ญี่ปุ่นจะกลับมาด้วยเจแปนซอฟต์พาวเวอร์ ตามมาด้วยกิจกรรมด้านครีเอทีฟอินดัสทรีคอนเทนต์เต็มไปหมด” ดร.พันธุ์อาจกล่าว
ผอ. NIA บอกอีกว่า “เด็กไทยตอนนี้แต่งคอสเพลย์มากถ้าไปสยาม มาบุญครอง มีทุกสัปดาห์ ถามว่าคอนเทนต์มาจากใคร ก้ญี่ปุ่น ต่อยอดมาเป็นเป็นสินค้าฟิกเกอร์ คอนเทนต์ อาหาร แพ็กเกจจิ้ง ได้อีกมาก”
เมื่อถามว่า แล้วประเทศไทยเรียนรู้อะไรจากเทรนด์นี้ “ลองดูหัวหุ่นยนต์กันดั้ม ต้นแบบมันมาจากซามูไร ซามูไรของโบราณถูกเอามาทำใหม่ ถามว่าศิลปะวัฒนธรรมไทยจะทำยังไงให้มันไม่เป็นของเก่า ต่างชาติมาเขาไม่เข้าใจไม่รู้สึกว่าอยากได้
ข้อมูลจากดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) ปีที่แล้วระบุว่า ประเทศไทยได้อันดับ 1 ของโลกด้านการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ แต่ส่งออกการบริการหรือออกแบบสินค้าสร้างสรรค์เองอันดับไม่สูง อยู่ประมาณอันดับ 80-90 ของโลก
“นั่นหมายความว่า ถ้ามองในสภาพแวดล้อมที่ผ่านมา เราก็ยังเป็นแค่ผู้รับจ้างผลิตสินค้าสร้างสรรค์ ยังไม่ได้เป็นคนที่ออกแบบ ยังไม่ได้เป็นคนที่พัฒนาออริจินัลไอเดียของครีเอทีฟ ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นเรื่องปัญหาในการดึงเอาคำว่าซอฟต์พาวเวอร์มาเล่น” ดร.พันธุ์อาจกล่าว
เขาเสริมว่า “เราส่งออกสินค้ารับจ้างผลิต แต่ออริจินัลดีไซน์อันดับ 90 กว่า ซอฟต์พาวเวอร์ที่เราบอกว่าดีจริง ๆ มันไม่ใช่ ฉะนั้นนวัตกรรมในฝั่งซอฟต์พาวเวอร์มันจะต้องถูกดันไปอีก ตอนนี้เราเป็นผู้รับ … แต่รู้หรือไม่ว่า T-pop มันกำลังเริ่มมา ขายได้นะ ในเอเชียแปซิฟิกไม่ได้ด้อย ภาพเหล่านี้มันเริ่มมา เป็นนวัตกรรมจากฝั่งครีเอทีฟ”
เทรนด์ที่ 5 – ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์เนื้อหาจากข้อมูล (Sophisticated AI for Data-Driven Content Creation)
ตัวอย่างของเทรนด์นี้ที่กำลังถูกพูดถึงคือ ChatGPT ซึ่งเป็น AI chatbot หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสื่อสารผ่านข้อความกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
“เทคโนโลยีนี้มันจะกระจายไปอยู่ในชีวิตประจำวัน มันสามารถสร้างคอนเทนต์ได้เอง ทำหน้าที่แทนนักข่าวก็ได้ … มันคือระบบที่จะเรียนรู้ข้อมูลจำนวนมากไม่ใช่เพื่อตอบคำถามอะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่เพื่อตอบสนองปัจเจก” ดร.พันธุ์อาจกล่าว
ผอ. NIA ยกตัวอย่างว่า “ที่บอกว่ามันกำลังตอบสนองรับใช้ปัจเจก ก็เช่น เราอยากรู้ว่า ทำยังไงให้ซ่อนเงินเมียได้ ทำยังไงให้เมียยอมให้ไปกินเหล้า มันก็ตอบ มันไม่ใช่สเกลคำถามใหญ่ มันคือเอา AI มาใช้ในชีวิตประจำวันนี่คือ AI ที่ถูกถูกตีความในอีกแบบหนึ่ง”
นอกจากนี้ AI ยังมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงในมิติอื่น เช่น Virtual influencer ที่สามารถควบคุมและกำหนดทิศทางการสื่อสารได้ง่ายกว่าการใช้มนุษย์ มีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ บุคลิกภาพโดดเด่นดึงดูดสายตาไม่ต่างจากนางแบบที่เป็นมนุษย์จริง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการรักษาภาพลักษณ์และลดต้นทุนของแบรนด์ได้อีกด้วย
เทรนด์ที่ 6 – เทคโนโลยีอาหาร (Food Tech)
มีการคาดการณ์ว่า ตลาดอาหารแห่งอนาคตของโลกในปี 2568 จะมีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งในโจทย์นี้ประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีศักยภาพ
ผอ. NIA เผยว่า เทคโนโลยีอาหาร 3 ตัวที่มาแน่ คือ โปรตีนจากแมลง (Insect Protein) โปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) และวิศวกรรมอาหาร (Food Engineering)
พูดรวม ๆ สินค้าในกลุ่มเทรนด์นี้คือ เนื้อที่ทำจากพืช เนื้อสัตว์ที่เพาะในห้องแลป อาหารจากเครื่องปรินต์สามมิติ อาหารทางเลือกที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรือผ่านการปรุงแต่งน้อย อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อาหารที่อัดแน่นด้วยคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ดร.พันธุ์อาจบอกว่า นอกจากตัวอาหารแล้ว “วิศวกรรมอาหาร” เป็นสาขาที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะมีไม่มากในตลาด และอยู่ในระดับขาดแคลนด้วย “กระบวนการผลิตอาหารกำลังต้องการ Smart Engineering เป็นโจทย์ที่เขาตามหากันทั่วโลก ส่วนใหญ่นวัตกรรมสายอาหารจะเป็น Food Delivery หรือ Restaurant Tech มากกว่า”
เขาเสริมว่า บริษัทวิศวกรรมจะหันมาทำเทคโนโลยีอาหารมากขึ้น เป็นสัญญาณที่แรงขึ้นมาก ซึ่งหากประเทศไทยเราไม่ย้ายไปตรงนี้ด้วย ก็อาจจะไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็นมหาอำนาจทางอาหารได้ ประเทศไทยอาจจะกลายเป็นแค่คนส่งออกวัตถุดิบเท่านั้น
เทรนด์ที่ 7 – เทคโนโลยีความมั่นคง (Defense Tech)
การพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารเป็นสิ่งที่หลายประเทศให้ความสำคัญเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงและทางเศรษฐกิจ แม้แต่ประเทศที่ไม่ใช่มหาอำนาจ อย่างเช่น ตุรกี ก็มีการพัฒนาในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก
แม้แต่เพื่อนอาเซียนของประเทศไทยอย่างอินโดนีเซียเอง ก็หันไปลงทุนกับเทคโนโลยีความมั่นคงมากกว่าจะจัดซื้อจัดหาจากต่างประเทศ โดยร่วมมือกับเกาหลีใต้ วิจัยและพัฒนาเรื่องบินรบ 5th Gen Fighter
“อินโดนีเซีนไม่ซื้อ แต่ไปร่วมลงทุนวิจัยและพัฒนากับรัฐบาลเกาหลี หลายประเทศเริ่มทำเทคโนโลยีความมั่นคงมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว แต่พอมีความขัดแย้ง หลายประเทศได้อานิสงส์ ประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่ใช่สหรัฐฯ อังกฤษ รัสเซีย จีน ไม่ว่าจะเกาหลี ไต้หวัน ตุรกี เขามีความสามารถในการทำเทคโนโลยีความมั่นคงมากขึ้น” ดร.พันธุ์อาจกล่าว
เขาบอกว่า สำหรับประเทศไทย เทรนด์นี้เป็นโจทย์ที่ยากที่สุด ว่าจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเทคโนโลยีความมั่นคงได้อย่างไร “อีก 2-3 ปีจะมีการเพิ่มงบประมาณการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านความมั่นคงอย่างมหาศาลในเอเชียแปซิฟิก ถ้าเราตกเทรนด์ตรงนี้ เราจะเป็นได้แค่ผู้ซื้อ”
ทั้งนี้ ในประเทศไทยก็เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีความมั่นคงของตัวเองบ้างแล้ว เช่น ปืน โดยมีข้อมูลว่า ตำรวจไทยเริ่มซื้อปืนจากบริษัทไทย-อิสราเอล หรือบางบริษัทในไทยก็เริ่มทำกระสุนและปืนอย่างเป็นระบบแล้ว